บทความโดย ชายชล สำลีทองสกุล / ปรับปรุงบทความโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. รวิเทพ มุสิกะปาน
From Then’ Till Now
มองย้อนกลับไปหนึ่งเทอมที่ผ่านมา เราได้ทำความรู้จักอย่างจริงจังกับคำที่เราได้ยินมาตั้งแต่จำความได้ อันเป็นคำที่คุ้นชินเมื่อพูดถึงและได้ยิน แต่เมื่อได้ลองสัมผัสจริงแล้วนั้นเสมือนเป็นการค้นพบครั้งใหม่ในสิ่งที่ตนเพิกเฉยและเคยมองข้าม คำนั้นคือคำว่า “ภูมิปัญญา” แน่นอน เราได้ยินคำนี้มาตั้งแต่ยังจำความได้ในวิชาเรียนเขียนอ่านที่พร่ำเรียนมา เพียงแต่เรารู้จักแค่เปลือกนอกเท่านั้น ในทีแรกตัวผมเองก็ยังไม่เข้าใจถึงแนวคิดการนำภูมิปัญญามาต่อยอดสักเท่าไหร่นัก ทำได้เพียงแต่ฉงนกับกับรูปภาพและคำโปรยที่อาจารย์พยายามอธิบาย แต่เมื่อเริ่มศึกษาและเริ่มลงลึกเรื่อยๆ ทดลองแล้วทดลองอีก แท้จริงแล้ว คือการนำเอกลักษณ์ (uniqueness) ของสิ่งนั้นๆ มาบวกกับกระบวนการออกแบบ กระบวนการทดลองจนเกิดเป็นสิ่งใหม่ ไปจนถึงเป็นนวัตกรรม (innovation) ขึ้นมา จากสิ่งที่คงเดิมที่มิได้ถูกปรับเปลี่ยนแปรสภาพมานาน หรือสิ่งอันเป็นวิถีที่ดำเนินเรื่อยมาจนชินชา มองข้าม คุ้นชิน แต่หากเราหยิบสิ่งนั้นมาพลิกแพลงแปลงโฉมใหม่ให้เข้ากับยุคสมัยและความต้องการ นั่นแหละคือแนวคิดและกระบวนการที่จะพัฒนาและยกระดับสิ่งที่มีอยู่แล้วและเคยชินให้คงหมุนเวียนและปรับเปลี่ยนอยู่เสมอ โดยไม่ถูกทอดทิ้งและถูกลืมไปตามกาลเวลา
มีประโยคหนึ่งที่ผมเคยอ่านเจอในหนังสือว่า “Ashes to ashes, dust to dust. This is what become of us.” ผมฉุกคิดได้ว่าภูมิปัญญานั้นเป็นเสมือนวิถีที่แทรกซึมเราอยู่ในทุกอณูของการใช้ชีวิตของเรา เพียงแต่เรามองข้ามไปเท่านั้นเอง ทำให้ผมเกิดความสงสัยจึงลองมองลึกลงไปถึงความหมายของคำว่า ภูมิปัญญา แท้จริงแล้วคืออะไรกันแน่?
จากการค้นหาข้อมูล ผมได้ข้อสรุปสั้นๆ เป็นประโยคที่ว่า “Wisdom is the ability to make good decisions informed by both knowledge and the lessons of lived experience.” ภูมิปัญญา คือ ความสามารถในการตัดสินใจจากการรับรู้ด้วยองค์ความรู้ ความคุ้นเคยและบทเรียนจากการดำรงอยู่ สรุปแล้วภูมิปัญญาเป็นเหมือน Soft Skill หรือ Fundamental ที่มีพื้นฐานมาจากการดัดแปลง (applied) ความรู้ต่างๆ
เมื่อได้ทราบถึงความหมายของภูมิปัญญา แล้วลองมาดูกันว่าจากหนึ่งเทอมที่ผ่านมา ทั้งผมและเพื่อนนั้นได้ทดลองและพัฒนาภูมิปัญญาเหล่านี้อย่างไรบ้าง จริงอยู่ การที่จะออกแบบอะไรสักอย่างต้องใช้หลายองค์ ไม่ว่าจะเป็นรูปร่าง รูปทรง สี พื้นผิวหรืออะไรก็แล้วที่ขมวดรวบยอดอยู่ในคำว่าแรงบัลดาลใจ แต่หัวใจหลักของการที่จะทำให้งานออกแบบนั้นออกมาแตกต่างโดดเด่นไม่เหมือนใครนั้น อยู่ที่กระบวนการและแนวคิดที่จะนำสิ่งที่มีอยู่มาผสานกับสิ่งใหม่ ผมจึงอยากจะยกตัวอย่าง process การทำงานของเพื่อนหลายๆ คนว่าพวกเขามีแนวคิดในการใช้กระบวนการของภูมิปัญญาในแขนงนั้นๆ สร้างสรรค์ออกมาเป็นผลงานในรูปแบบใดได้บ้าง ในช่วงครึ่งแรกของเทอม
เริ่มจากในรูปแรกนั้นเป็นการนำภูมิปัญญาการทำพวงมโหตร มาต่อยอดเป็นผลงาน โดยศึกษาการสร้างแพทเทิร์นที่เกิดจากกระดาษที่ติดกาวเป็นช่องสลับไปมา เมื่อกางออกจะเกิดเป็นทรงสามมิติที่มีช่องตลอดทั้งผืน การศึกษาเราไม่ได้ได้ทำพวงมโหตรรูปแบบภูมิปัญญาดั้งเดิมเป็นอย่างเดียวเท่านั้น เราต้องนำมาต่อยอดด้วยการเปลี่ยนแปลงทั้งวัสดุและรูปทรง แต่ยังคงอยู่บนพื้นฐานของรูปแบบการซ้อนและสับหว่างของพวงมโหตร ทำให้ได้ผลงานที่มีพื้นผิวและจังหวะที่แตกต่างไปจากเดิม แต่ยังคงอยู่ซึ่งกลิ่นอายขอภูมิปัญญาการทำพวงมโหตร ท้ายที่สุด งานนี้ทำให้เห็นการต่อยอดมาสู่รูปแบบการสวมใส่ในรูปแบบกระโปรงยาวในรูปแบบการตัดด้วยวิธีการของภูมิปัญญาของพวงมโหตร
หรือจะเป็นในรูปที่สอง ที่ได้แนวความคิดมาจากการสานปลาตะเพียนอันเป็นสิ่งที่คนไทยอย่างเราคุ้นเคยเป็นอย่างดี แต่จะทำอย่างไรให้ปลาตะเพียนสานที่ดูเป็นของธรรมดาให้แตกต่างและร่วมสมัยเช่นกัน กระบวนการทั้งหมดเกิดจากการศึกษาวิธีการสานตัวปลาตะเพียนนั้นสามารถแปรสภาพไปเป็นรูปแบบใดได้บ้างนอกจากสานเป็นตัวปลาอย่างเดียว จากรูปนั้นจะเห็นได้ว่ามีการทดลองในการสานให้เป็นผืนหรือสานด้วยเทคนิคการสานตัวปลา แต่เป็นรูปทรงอื่น ทำซ้ำจนเกิดจังหวะที่แปลกตา และในรูปสุดท้าย (ล่าง) เมื่อการสานไม่จำเป็นต้องเกิดจากวัสดุที่แบนหรือกลมที่ได้จากธรรมชาติเสมอไป หากเป็นวัสดุสังเคราะห์หรือวัสดุที่ดูตรงข้าม จนรู้สึกว่าไม่สามารถนำมาอยู่ในงานฝีมือรูปแบบนี้ได้ จึงทำให้เกิดลักษณะพื้นผิวที่แปลกตาและแปลกใหม่ ซึ่งทั้งหมดเกิดจากกระบวนการดั้งเดิมที่สืบต่อกันมา เพียงแต่นำมาผสมผสานกับงานออกแบบจนเกิดเป็นสิ่งใหม่
แต่นั่นเป็นเพียงบทสรุปของจุดเริ่มต้นเท่านั้นที่ได้พวกผมได้ลองสัมผัสศึกษาและทำความรู้จักกับภูมิปัญญาไทย
โดยในครึ่งหลังของเทอมนั้นได้เจาะจงลงไปในภูมิปัญญาที่เป็นผ้าในรูปแบบต่างๆ จากหลากหลายแหล่งที่มา หลากหลายท้องถิ่นและหลากหลายวัฒนธรรมโดยมีคำว่า “ผ้าไทย” เป็นตัวเชื่อมในครั้งนี้ แตกต่างจากครั้งครึ่งเทอมก่อนที่สามารถอิสระในการทดลองวัสดุเพื่อให้เกิดรูปทรง พื้นผิวและสี ให้ออกมาตามต้องการ แต่เพียงผ่านกระบวนการคิดและออกแบบที่มีภูมิปัญญาเข้ามาผสม แต่ในครั้งนี้ถูกจำกัดด้วยวัสดุจึงเป็นอีกความท้าทายใหม่ที่จะนำมาพัฒนาและทดลอง เข้าใจว่าเพื่อสร้างความเข้าใจในวัสดุที่เข้าสู่การออกแบบแฟชั่นได้ชัดเจนขึ้น
01 RHAPSODY IN BLUE
สำหรับตัวผมนั้นได้เลือกศึกษาผ้าทอมือย้อมคราม ที่มีคุณสมบัติเป็นผ้าทอมือลายขัดสีฟ้าไปจนถึงน้ำเงินเข้มมีลวดลายแตกต่างกันออกไป หลังจากศึกษาทำให้เห็นว่าลวดลายและสีมีความแตกต่างกันตามแต่ละท้องถิ่น และในแต่ละของไทย ในกระบวนการออกแบบที่มีข้อกำหนดให้นำผ้าทอถิ่นมาใช้นั้น ผมได้เริ่มต้นสังเกตลักษณะของลายผ้าก่อน โดยผมมองเห็นและมีความรู้สึกถึงรูปทรงเรขาคณิตและเป็นรูปแบบที่ซ้ำกัน โดยตัดความรู้สึกดั้งเดิมของความเป็นพื้นถิ่นออกไป ผมมองเห็นเป็นแนวยาวคล้ายกับแผงวงจรอิเล็คทรอนิกส์ที่ทำให้นึกถึงภาพยนต์ไซไฟที่ผมชื่นชอบในวัยเด็กอย่าง Tron: Legacy ที่แสงในเรื่องส่วนใหญ่เป็นสีฟ้าและขาว ผมจึงศึกษาเพิ่มเติม และนำทั้งสองอย่างมาผสมผสานในการออกแบบของสองสิ่งที่ดูตรงข้าม โดยตั้งใจทำให้ผ้าย้อมครามนั้นดูมีความ futuristic มาขึ้นด้วยการสร้างพื้นผิวให้มีความมัน ใช้เทคนิคการรีดฟอยล์และไวนิลลงบนผ้าเพื่อให้เกิดพื้นผิวใหม่ และเมื่อบิดงอหรือพับก็จะได้พื้นผิวที่มีอารมณ์ต่างจากผ้าเดิมที่เป็นผ้าทอ
โดยประเด็นหลักหรือแรงบัลดาลใจที่หยิบยกมาจากทั้งสองเรื่องนี้ และพบความคล้ายคลึงกันคือสีและลวดลาย จึงนำทั้งสองมาออกแบบตามองค์ประกอบต่างๆ ที่ได้จากทั้งผ้าและภาพยนตร์ ในวันการตรวจผลงาน กลับได้มุมมองของอาจารย์ ว่าผลงานสามารถทำให้เกิดความรูสึกถึงสัตว์เลื้อยคลานสีแปลกใหม่
02 PERFECT ILLUSION
เมื่อลวดลายอิสระของผ้ามัดย้อมมาหลอมรวมกับพื้นผิวการพลีตเรขาคณิตทำให้เกิด illusion ใหม่ที่แปลกตาและน่าสนใจ ผลงานการออกแบบที่นำภูมิปัญญาผ้ามัดย้อมมาพัฒนาต่อจากเดิมที่เป็นมัดย้อมบนผ้าจากธรรมชาติ ที่ทดลองเทคนิคการมัดย้อมดั้งเดิมจากสีและสัดส่วนของลวดลายใหม่
จนถึงการนำลวดลายมัดย้อมนี้มาพิมพ์ลงบนผ้าแก้ว ที่มีลักษณะเป็นผ้าใยผ้าสังเคราะห์โปร่งแสงและมีความเงาวาว เมื่อกระทบกับแสงไฟมาทับซ้อนกับผ้ามัดย้อมที่มีความทึบ เพื่อให้เกิดมิติคล้ายภาพลวงตา อีกทั้งยังได้ทำการขยำเพื่อให้พื้นผิวของผ้าเล่นแสงเงามากขึ้น บวกกับการใช้เทคนิคอัดพลีทลวดลายเรขาคณิตให้ล้อไปความมันวาวของผ้าแก้ว สร้างภาพลวงตาตัดกับลายอิสระของมันย้อมด้านล่าง
03 MELT AWAY
ความ Eccentric ที่เกิดจากการผสมผสานเข้าด้วยกันของวัสดุที่ต่างอารมณ์และต่างพื้นผิว สร้างความลงได้อย่างน่าประหลาดใจ ผลงานการออกแบบที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากการหลอมเหลวพลาสติกบนร่างกายของมนุษย์ ที่เมื่อไหลไปตามร่างกายแล้วนั้นทำให้เกิดความเว้าโค้ง (curve) และรูปทรงอิสระที่เกิดจากการหลอมเหลวและละลาย โดยใช้ผ้าถุงลายดอกที่คุ้นตาของย่าคุณยาย คุณแม่ ที่ใส่กันเห็นจนคุ้นตาจนเป็นสิ่งพื้นบ้าน (vernacular ) ที่มีคุณสมบัติเป็นผ้าทอจากเครื่องเครื่องจักรลวดลายผสมผสาน ทำให้มีเส้นใยที่ทอแน่นเป็นผืนพิมพ์ลวดลายพื้นบ้าน
จึงนำพัฒนาต่อโดยการตัดเย็บที่มีลักษณะตามการละลายของพลาสติก และสลับด้านเย็บต่อกันจนเกิดรูปทรงใหม่อีกทั้งยังแทรกด้วยผ้าลูกไม้ โดยนำมาซ้อนให้เกิดมิติใหม่ของล้ายผ้าที่ซ้อนกัน แต่ยังเห็นลวดลายพื้นบ้านที่คุ้นตาแทรกอยู่ทำให้เกิดคามรู้สึกแปลกใหม่ และยังมีการนำพลาสติกมาเป่าด้วยความร้อน แล้วทำให้เกิดรอยยับ เป็นการสร้าง layering ที่ซับซ้อน แปลกตา และลงตัว
04 CONTRAST + DUALITY
สีสันอันฉูดฉาดและตระการตาด้วยลายดอกไม้ของผ้าปาเต๊ะนั้นสามารถดึงดูดสายตาได้เสมอ เมื่อเจอกับงานดีไซน์ที่ลงตัว ยิ่งทำให้เกิดความงามในรูปแบบใหม่ที่มองได้ไม่มีเบื่อ ด้วยเอกลักษณ์ของผ้าป้าเต๊ะที่โดดเด่นด้วยลวดลายที่ซับซ้อนและสีสันที่ตัดกันอย่างสนุกสนาน ทำให้เป็นที่สังเกตได้ง่าย แม้จะวางคู่กับลูกพี่ลูกน้องอย่างบาติก
ด้วยเอกลักษณ์นี้ ผู้ออกแบบจึงนำภูมิปัญญาจากแดนใต้นี้มาต่อยอดและเพิ่มมูลค่าของผลงาน โดยนำเสนอผ่านลวดลายของผ้าปาเต๊ะ และลวดลายการปักดอกไม้มาผสมผสานกัน โดยตัดลวดลายพิมพ์ของผ้าถุงปาเต๊ะมาจัดช่อใหม่ จากสองมิติให้กลายเป็นสามมิติ ใช้การปักตามลวดลายของตัวโครงชุดแบบ Darning Stitch เพื่อให้ดอกไม้ที่ปักมีความนูนเหมือนดอกไม้กำลังบาน ทำให้เกิดเสื้อผ้าร่วมสมัยในรูปแบบ Ready-to-wear
05 CAMPIEST OF THEM ALL
จะเป็นอย่างไรเมื่องานดีไซน์แนวคิดแบบ Secondhand Deconstruction มาเจอกับสไตล์อันสุดโต่ง สร้างสรรค์เป็นผลงานที่ยากจะละสายตาจนเรียกได้ว่าเป็น Scene Stealer อย่างแท้จริง จากแรงบัลดาลและโจทย์ที่เป็นผ้าไทยจากและผ้าผ้ามือสอง
จึงเริ่มลงสำรวจผ้ามือสองพบว่าตลาดขายเสื้อผ้ากีฬา แจ็คเก็ตมือสองได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก จึงนำโครงชุดและวัสดุแนว Activewear ที่ให้ความรู้สึก Sporty บวกกับความประทับใจให้ภาพศิลปิน Kazimir Malevich ที่ใช้เส้นตรงตัดกันอย่างน่าสนใจ โดยผ้าไทยที่เลือก เป็นผ้าไทยลายข้าวหลามตัด จึงใช้เส้นตรงของริบบิ้นตัดกับขอบลายผ้าให้เกิดลวดลายใหม่และกลมกลืนไปกับเสื้อผ้ามือสอง
หากผู้อ่านได้อ่านมาถึงตรงนี้แล้วนั้น ถือว่ามาไกลทีเดียว จาก 5 ผลงาน 5 สไตล์ ที่แสดงให้เห็นว่าภูมิปัญญาไทย อย่างผ้าไทย หรืองานฝีมือดั้งเดิม พื้นบ้านงานในครัวเรือน วัสดุคุ้นตาแบบบ้านๆ ที่เราเห็นกันชินตา บ้างบอกว่าเชย ล้าสมัย หรือดัดแปลงเอามาใช้ได้แค่บางโอกาส สามารถนำมาสร้างสรรค์ผลงานที่น่าสนใจ แปลกใหม่ และร่วมสมัยได้ เพราะถ้าเรามองลึกลงไปและศึกษาให้ดี เราจะพบความงามและสิ่งใหม่ๆ ในนั้นเสมอ อย่างที่เคยมีดีไซน์เนอร์ที่เรารักและรู้จักกันเป็นอย่างดีกล่าวไว้ว่า
“I think there is beauty in everything. What ‘normal’ people would perceive as ugly, I can usually see something of beauty in it” – Alexander McQueen
และทั้งหมดนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความสนุกสนานตลอดหนึ่งเทอมที่ผ่านมาของผมและเพื่อนๆ นับตั้งแต่วันนั้นถึงวันนี้ ในมุมมองของการพัฒนาภูมิปัญญาของพวกเรา FASH21 From Then ‘Till Now
การเรียนการสอนพัฒนภูมิปัญญาไทย เพื่อการออกแบบแฟชั่น เปิดการเรียนการสอนในหลักสูตร BA. Fashion, Textiles and Accessories ในวิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มศว โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. รวิเทพ มุสิกะปาน
© All rights by Fashion College of Creative Industry Srinakarinwirot University