สุดยอดไหมบาติก เมื่อการสร้างสรรค์ผลงานผ้าไหมบาติก ได้รับผลงานรางวัลวิจัยดี งานประชุมวิชาการหม่อนไหม ประจำปี พ.ศ. 2562 ในวันที่ 5 – 7 มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา เรามาดูว่าผลงานการสร้างสรรค์ผลงานผ้าไหมบาติก ในผลงานวิจัยชิ้นนี้มีความน่าสนใจอย่างไร
ผลงานวิจัยโครงการวิจัยและพัฒนาลวดลายผ้าบาติกไหมไทยภาคใต้ เพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์แฟชั่นไหมไทยร่วมสมัย (Development of “Batik” Pattern and technique in Southern Thai silk for Creative Contemporary Thai Silk Fashion) เป็นโครการวิจัยที่เป็นการร่วมมือของ กรมหม่อนไหม กับ วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และสถาบันยุทธศาสตร์ทางปัญญาและวิจัย มศว ของ สุระเดช ธีรกุล และทีมวิจัยสำนักวิจัยและพัฒนาหม่อนไหม กรมหม่อนไหม ร่วมกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. รวิเทพ มุสิกะปาน ดร. กรกลด คำสุข ทีมคณาจารย์หลักสูตรแฟชั่น สิ่งทอและเครื่องตกแต่ง วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มศว ที่เน้นงานวิจัยต่อยอดนวัตกรรมตอบโจทย์ความต้องการของตลาด โดยมีการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์จากผ้าไหมบาติกต้นแบบ ใน 4 กลุ่มช่างฝีมือที่เข้าร่วมโครงการ ดาหลาบาติก ชัยบาติก กลุ่มมัดย้อมสีธรรมชาติ บ้านคีรีวง และกลุ่มผ้าบาติกบ้านคอเอน
จุดประสงค์เพื่อสร้างแนวทางและวิธีการในการพัฒนาลวดลายผ้าบาติกไหมไทยสำหรับผลิตภัณฑ์แฟชั่นไหมไทย ที่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจด้านหม่อนไหม และเป็นโอกาสแลกเปลี่ยนความคิด มุมมอง และเพิ่มพูนความรู้ความสามารถ ของกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตภัณฑ์ผ้าไหมเทคนิคบาติก ผู้เชี่ยวชาญ และนักศึกษา เกิดเป็นเครือข่ายของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่ร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานทดลองในครั้งนี้
ที่มีแนวทางร่วมกันดังนี้ แนวทางในการพัฒนาลวดลายผ้าบาติกไหมไทยสำหรับผลิตภัณฑ์แฟชั่นไหมไทย ควรมีการปรับรูปแบบของลวดลายให้มีความร่วมสมัยมากขึ้น อาจมีการลดทอนรายละเอียดจากลวดลายเอกลักษณ์เดิมลง คงไว้ซึ่งลักษณะของลวดลายที่เกิดจากเทคนิคการวาดและพิมพ์เทียน เลือกใช้กลุ่มและสัดส่วนสีที่ลงตัว สอดคล้องกับ แนวคิดจากกระแสแนวโน้มแฟชั่นสากล ประยุกต์ให้มีความสอดคล้องกับความสามารถในการผลิตผ้าไหมบาติกของแต่ละกลุ่ม ใช้ความน่าสนใจโดยการมีเรื่องราวแรงบันดาลใจมาจากท้องถิ่น สิ่งแวดล้อมใกล้ตัว ควรมีแนวคิดเชื่อมโยง การใช้ชีวิต รูปแบบของการพัฒนาผลิตภัณฑ์มีความเป็นชนบทแก่ชุมชนเมือง การยอมรับในสินค้าจากชุมชน สินค้าที่มีความเป็นหัตถกรรม สู่ผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์ของคนเมือง สร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์แฟชั่นที่เน้นไปในรูปแบบที่ไม่เป็นทางการมาก ออกแนวลำลอง (casual style) มีลักษณะของผ้าไหมบาติกที่มีความพลิ้วไหว ดูมีความเคลื่อนไหว (movement) มีชีวิตชีวา
กลุ่มผ้าบาติกบ้านคอเอน ตำบลไม้ขาว อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต กลุ่มผู้ผลิตผ้าบาติก ซึ่งมีประสบการณ์มานานกว่า 10 ปี เน้นสร้างสรรค์ผืนผ้าด้วยการเขียนเทียน ลวดลายส่วนใหญ่ได้รับแรงบันดาลมาจากธรรมชาติและทะเลภูเก็ต พัฒนาลวดลายผ้าไหมบาติก
กลุ่มชัยบาติก ตำบลวิชิต อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต กลุ่มผู้ผลิตผ้าบาติก ซึ่งมีหัวหน้ากลุ่มที่มีความเชี่ยวชาญในการผลิตผ้าบาติกที่โดดเด่นด้วยลวดลายแนวนามธรรม (Abstract) ที่ซับซ้อน ผสมผสานหลากหลายเทคนิคในการสร้างสรรค์ผ้าผืนที่มีความเป็นงานศิลปะ รวมไปถึงการผลิตผ้าบาติกด้วยเทคนิคการพิมพ์เทียนที่เน้นใช้ไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เชิงการค้า พัฒนาลวดลายผ้าไหมบาติกลาย abstract
กลุ่มดาหลาบาติก ตำบลปากน้ำ อำเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ ผลิตผ้าบาติกที่โดดเด่นด้วยลวดลายดั้งเดิมที่มีกลิ่นอายความเป็นมลายูผสมกับไทยไปจนถึงลวดลายประยุกต์ที่มีความร่วมสมัย โดยเทคนิคการพิมพ์เทียนด้วยแม่พิมพ์โลหะ พัฒนาลวดลายผ้าไหมบาติก ลายประแจจีน และลายดอกจอก
กลุ่มมัดย้อมสีธรรมชาติ บ้านคีรีวง ตำบลกำโลน อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช กลุ่มผู้ผลิตผ้าบาติกด้วยสีธรรมชาติ สร้างสรรค์ลวดลายด้วยการเขียนเทียนที่มีแรงบันดาลใจมาจากพืชพรรณธรรมชาติและความอุดมสมบูรณ์ของบ้านคีรีวง ย้อมสีและลงสีด้วยสีธรรมชาติที่ใช้วัตถุดิบจากพืชพรรณในท้องถิ่น พัฒนาลวดลายผ้าไหมบาติก ย้อมด้วยสีธรรมชาติ ได้แก่ สีเขียวจากใบหูกวาง สีน้ำตาลจากแกนหลุมพอ และสีเทาจากเปลือกเงาะ
ลักษณะของงานบาติกในรูปแบบการเขียนเทียน (Wax writing) เอกลักษณ์ที่เกิดขึ้นจะขึ้นอยู่กับผู้คิดค้นลายหรือผู้วาดลาย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้มีความสามารถในการวาดภาพ และเป็นผู้นำกลุ่ม ลวดลายในการเขียนผ้าบาติกนั้นจะแสดงถึงเอกลักษณ์ของศิลปินผู้วาด แสดงถึงความเป็นตัวตน (Self-expression) สื่อผ่านชิ้นงานนั้นๆ ในรูปแบบของเส้นสายที่ใช้ เทคนิคในการวาด การใช้สี มีการลดทอนรายละเอียด (Simplify) จากแรงบันดาลจากสภาพแวดล้อมในท้องถิ่น ไปจนถึงลักษณะการวาดภาพเชิงนามธรรม (abstract) จากจินตนาการของผู้วาดเอง ต้องมีการปรับแบบร่างการออกแบบไปตามทักษะและเอกลักษณ์ของแต่ละกลุ่มผู้ผลิตผ้าไหมบาติกกรณีศึกษา
ลักษณะของงานบาติกแบบพิมพ์เทียน (Cap printing) ขึ้นกับผู้ออกแบบลวดลายและวิธีในการผลิตแม่พิมพ์ซึ่งเป็นแม่พิมพ์จากพลาสติก และโลหะ ลวดลายการพิมพ์เทียนของแต่ละกลุ่มจะมีแบบอย่างเฉพาะตัว (style) แตกต่างกันไป ตัวอย่างเช่น ลวดลายที่พัฒนามาจากลวดลายดั้งเดิมมาจัดวางเรียงตัวเป็นลายแบบใหม่ หรือได้แรงบัลดาลใจมาจากลวดลายโบราณ ไปจนถึงการสร้างสรรค์ลวดลายใหม่ตามสมัยนิยม
ผ้าไหมบาติกสีธรรมชาติจากกลุ่มมัดย้อมสีธรรมชาติ บ้านคีรีวง จังหวัดนครศรีธรรมราช สร้างความแตกต่างจากกลุ่มผู้ผลิตผ้าไหมบาติกอื่นๆ ด้วยการย้อมผ้าไหมบาติกด้วยสีธรรมชาติที่มีเฉดสีที่นุ่มนวล เช่น สีเขียวจากใบหูกวาง สีน้ำตาลจากแกนหลุมพอ สีเทาจากเปลือกเงาะและฝักสะตอ สีส้มและสีชมพูจากใบมังคุด เป็นต้น จากวัตถุดิบภายในท้องถิ่น เป็นการสร้างเรื่องราว (Story) สร้างความแตกต่างให้กับผลิตภัณฑ์ผ้าไหมบาติกของกลุ่ม และเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม
การพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าไหมบาติก ควรมีการส่งเสริมและพัฒนาอยู่เสมอ เพื่อการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่สามารถสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน เพื่อให้สอดคล้องกับเทรนด์ของโลก พฤติกรรมในการดำเนินชีวิตของคนที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่หยุดนิ่ง ประกอบการทำการตลาดให้กับผลิตภัณฑ์ผ้าไหมบาติกที่ทันยุคทันเหตุการณ์ สื่อสารกับกลุ่มเป้าหมาย นอกจากนี้ยังเป็นการคงไว้ซึ่งภูมิปัญญาการทำผ้าบาติกของท้องถิ่นที่สืบทอดต่อกันมา
คณะผู้ดำเนินงาน/ผู้วิจัยหวังว่า ความรู้ที่ได้จากการดำเนินโครงการนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการนำไปประยุกต์ใช้ เป็นข้อมูลประกอบ เป็นแนวทาง และเป็นรูปแบบวิธีการหนึ่งในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ไหมไทยต่อไปในอนาคต
นางสาวศิริพร บุญชู อธิบดีกรมหม่อนไหม เปิดเผยว่า ที่ผ่านมากรมหม่อนไหมรับผิดชอบงานการพัฒนาหม่อนไหมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำแบบครบวงจร การพัฒนางานวิจัยจึงเป็นเรื่องตั้งแต่วัตถุดิบต้นน้ำ ไปจนถึงการแปรรูปที่เป็นปลายน้ำ ซึ่งลักษณะของงานวิจัยของไหมที่ออกมาจะต้องเป็นงานวิจัยที่ตอบโจทย์ ทั้งในเรื่องการแก้ปัญหาของเกษตร ผลผลิต การแปรรูป การตลาด และเน้นการต่อยอดนวัตกรรมเพื่อที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าหม่อนไหม นอกจากนี้แล้วในปัจจุบันงานวิจัยจะให้ความสำคัญเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมอีกด้วย คณะกรรมการ จึงคัดเลือกมอบรางวัล ผลงานวิจัยในระดับดี
โครงการวิจัยที่เกิดจากการร่วมมือของทั้ง 2 หน่วยงานในครั้งนี้ เกิดจากการ MOU ระหว่างกันของ กรมหม่อนไหม และ วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ในด้านต่างๆ รวมถึงการทำงานวิจัยและการเรียนการสอน ที่เน้นอยู่ในระดับปริญญาตรี หลักสูตร แฟชั่น สิ่งทอและเครื่องตกแต่ง และระดับปริญญาโท หลักสูตร นวัตกรรมการออกแบบ
© All rights by Fashion College of Creative Industry Srinakarinwirot University