แนวทางการสร้างสรรค์และพัฒนาผลิตภัณฑ์หม่อนไหมอย่างยั่งยืน  

แนวทางการสร้างสรรค์และพัฒนาผลิตภัณฑ์หม่อนไหมอย่างยั่งยืน กรณีกลุ่มวิสาหกิจชุมชนปลูกหม่อนเลี้ยงไหมทอผ้าบ้านอ่างเตย ตำบลท่าตะเกียบ อำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา

บทความโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. รวิเทพ มุสิกะปาน

แนวทางการสืบทอดภูมิปัญญาด้านการทอผ้าที่มีกระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในรูปแบบผลิตภัณฑ์ชุมชนอย่างยั่งยืน ตัวอย่างชุมชนที่รวมกลุ่มที่สร้างสรรค์และพัฒนาผลิตภัณฑ์หม่อนไหม ในแนวคิดแฟชั่นเพื่อความยั่งยืนได้อย่างมีประสิทธิภาพและน่าจะเติบโตได้อย่างยั่งยืน กลุ่มหนึ่งใน จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้แก่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนปลูกหม่อนเลี้ยงไหมทอผ้าบ้านอ่างเตย ตำบลท่าตะเกียบ อำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา 

     การใช้เรื่องราว เรื่องเล่าของพื้นที่มาใช้ในการสร้างมูลค่าในด้านการออกแบบ  เนื่องจากพื้นที่ของหมู่บ้านมีลักษณะเป็นอ่าง เมื่อนำมารวมกับความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยเตยป่าที่ขึ้นอยู่ในลำห้วยที่ไหลผ่านหมู่บ้าน ชาวบ้านจึงพากันเรียกพื้นที่แห่งนี้ว่า “บ้านอ่างเตย”

     การใช้ทักษะด้านงานหัตถกรรมมาต่อยอดการสร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างต่อเนื่องและยาวนาน   ชุมชนบ้านอ่างเตย  ประชากรส่วนใหญ่อพยพมาจากภาคอีสานตอนล่าง และส่วนใหญ่ประกอบอาชีพ ทำไร่ ทำนา สวนผลไม้ ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม และได้มีการนำภูมิปัญญาการทอผ้าที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ  ซึ่งเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมของทางภาคอีสานมาถือปฏิบัติจนเป็นภูมิปัญญาที่อยู่คู่กับวิถีชุมชน โดยชุมชนบ้านอ่างเตยมีการรวมตัวกันก่อตั้งกลุ่มทอผ้าไหมบ้านอ่างเตยขึ้น

     มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์งานหัตถกรรมในกระบวนการอย่างยั่งยืน  กลุ่มวิสาหกิจชุมชนปลูกหม่อนเลี้ยงไหมทอผ้าบ้านอ่างเตย มีกระบวนการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์หม่อนไหม ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ โดยกลุ่มทอผ้าชุมชนบ้านอ่างเตย เป็นกลุ่มทอผ้าที่ดำเนินการในการสืบทอดภูมิปัญญาด้านการทอผ้าที่ ครบวงจรตั้งแต่การปลูกหม่อน เลี้ยงไหม การทอผ้า การย้อมสีด้วยสีธรรมชาติ มีลวดลายผ้าขาวม้า ลวดลายผ้าลายโฮล ลวดลายมัดหมี่ดั้งเดิมของภูมิปัญญาทางภาคอีสาน และผ้าไหมมัดหมี่ลายหนามเตย ที่เป็นลายเอกลักษณ์ของชุมชนบ้านอ่างเตย ตลอดจนการนำผ้าทอไปตัดเย็บเป็นกระเป๋า และผลิตภัณฑ์ของใช้ของที่ระลึกอื่นๆ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน “กลุ่มปลูกหม่อนเลี้ยงไหมทอผ้าบ้านอ่างเตย” ยังเป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมด้านการทอผ้า โดยเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวเข้าชมแปลงหม่อน และทดลองสาวไหม ทอผ้าด้วยตนเอง จึงเป็นเหตุให้มีหน่วยงาน องค์กร และประชาชน เข้าศึกษาดูงานและเยี่ยมชมวิสาหกิจชุมชน “กลุ่มปลูกหม่อนเลี้ยงไหมทอผ้าบ้านอ่างเตย”จำนวนมากและต่อเนื่อง

        จากการลงพื้นที่ของคณาจารย์ หลักสูตรแฟชั่น สิ่งทอและเครื่องตกแต่ง ในโครงการความร่วมมือพัฒนางานออกแบบผลิตภัณฑ์ไหมไทยเชิงสร้างสรรค์ประจำปี 2566 ระหว่างหลักสูตรแฟชั่น สิ่งทอและเครื่องตกแต่ง กับ สำนักวิจัยและพัฒนาหม่อนไหม กลุ่มวิจัยการออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมกรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  โดย ผู้ทรงคุณวุฒิ จาก หลักสูตรแฟชั่น สิ่งทอและเครื่องตกแต่ง วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ หัวหน้านักวิจัยโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. รวิเทพ มุสิกะปาน  อาจารย์ ดร. กรกลด คำสุข ผู้ช่วยศาสตาจารย์ ดร. อรัญ วานิชกร อาจารย์ แพรวา รุจิดำรง  ผู้ทรงคุณวุฒิ จากกรมหม่อนไหม น.ส.สมพร เลิศจิรกุล นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ นายสุรเดช ธีระกุล นักวิชาการออกแบบผลิตภัณฑ์ชำนาญการ นางสาวจิรติกร จูจันทร์ นักวิชาการเกษตรชำนาญการ สรุปผลการวิเคราะห์ถึงจุดแข็งและจุดอ่อนในด้านต่างๆร่วมกัน ได้ดังนี้

        ด้านการผลิต กลุ่มทอผ้าชุมชนบ้านอ่างเตย เป็นกลุ่มทอผ้าที่ดำเนินการในการสืบทอดภูมิปัญญาด้านการทอผ้าที่ ครบวงจรตั้งแต่การปลูกหม่อน เลี้ยงไหม การทอผ้า ครบวงจรได้ด้วยสมาชิกในกลุ่ม ที่มีสมาชิกความเชี่ยวชาญทำได้ครบทุกกระบวนการเกิน 70 เปอร์เซ็นต์ ของสมาชิกในกลุ่ม และมีความเชี่ยวชาญ ด้านการย้อมสีธรรมชาติได้สวยงามและเป็นเอกลักษณ์ เช่น สีเหลือง ได้จากประโหด ดอกดาวเรือง สีน้ำตาล ได้จากฝักคูน
สีดำ ได้จากเปลือกยูคาทับโคลน ส่งมอบภูมิปัญญาการทอผ้าของชาวอีสานสู่ลูกหลานกว่า 3 รุ่นแล้ว
พวกเขาจัดตั้งกลุ่มทอผ้าไหมบ้านอ่างเตยขึ้นเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2536 ต่อมาได้จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

        ด้านลวดลายและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ กลุ่มทอผ้าชุมชนบ้านอ่างเตย เป็นกลุ่มทอผ้าที่ดำเนินการในการสืบทอดภูมิปัญญาด้านการทอผ้าที่ความเชี่ยวชาญในลวดลายอัตลักษณ์ดั้งเดิม ลวดลายผ้าขาวม้า ลวดลายผ้าลายโฮล มีลวดลายร่วมสมัยอัตลักษณ์ที่จดจำได้ คือ ผ้าไหมมัดหมี่ลายหนามเตย

         ด้านการตลาด กลุ่มทอผ้าชุมชนบ้านอ่างเตย เป็นกลุ่มทอผ้าที่ดำเนินการในการสืบทอดภูมิปัญญาด้านการทอผ้าที่มีการตลาดในรูปแบบผลิตภัณฑ์ชุมชน ที่ได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากภาครัฐ กรมหม่อนไหม
และกรมพัฒนาชุมชน

     สิ่งที่ต้องพัฒนาและต่อยอด ควรเร่งกระบวนการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการผลิต ตั้งแต่การปลูกหม่อน เลี้ยงไหม การทอผ้า ให้กับทายาทหรือผู้ที่ต้องการเข้ามาเป็นสมาชิกในกลุ่มเพิ่มเติมที่มีอายุน้อยกว่า เพราะสมาชิกกลุ่มทอผ้าชุมชนบ้านอ่างเตย ปัจจุบันเป็นกลุ่มทอผ้าที่เป็นผู้อายุเฉลี่ยเกิน 50 ปี ถึงแม้กลุ่มทอผ้าชุมชนบ้านอ่างเตย มีความเชี่ยวชาญในลวดลายอัตลักษณ์ดั้งเดิม ลวดลายผ้าขาวม้า ลวดลายผ้าลายโฮล และมีลวดลายร่วมสมัย ผ้าไหมมัดหมี่ลายหนามเตย แต่ยังไม่มีการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์แฟชั่นร่วมสมัยในรูปแบบใหม่ๆ กลุ่มทอผ้าชุมชนบ้านอ่างเตย ยังขาดองค์ความรู้ด้านการตลาดผลิตภัณฑ์แฟชั่นของชุมชน ในด้านการประชาสัมพันธ์และการขาย ในการพึ่งพาตัวเอง เช่น การประชาสัมพันธ์และจัดจำหน่ายสินค้าในรูปแบบออนไลน์

         โดยแนวทางที่เหมาะสมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ สรุปได้ว่า ใช้การพัฒนาผลิตภัณฑ์ในแนวทางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้ดำเนินการออกแบบผลิตภัณฑ์สินค้าแฟชั่นไลฟ์สไตล์ (Fashion Lifestyle)  โดยใช้แนวคิดในการผสมผสานความคิดสร้างสรรค์ (Creative) นวัตกรรม (Innovation) และอัตลักษณ์พื้นถิ่นเข้าไว้ด้วยกัน คือ การนำแนวคิดด้านการอนุรักษ์งานหัตกรรมเชิงวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน ด้วยการแสดงความเคารพคุณค่าทางศิลปหัตถกรรม และวัฒนธรรมมาผสมผสานการใช้ชีวิตในวิถีปัจจุบันได้อย่างกลมกลืน เพื่อให้สิ่งที่มีคุณค่าในอดีตจากความหลากหลายถูก ต่อยอดและอยู่ร่วมกับคนรุ่นใหม่ ทั้งนี้จากการลงพื้นที่ สรุปได้ว่าการพัฒนาผลิตภัณฑ์ แนวทางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์แฟชั่นในแนวทาง Zero Waste ที่เหมาะสมกับการออกแบบแฟชั่นจากวัสดุท้องถิ่นเพื่อต่อยอดเชิงพาณิชย์และสอดคล้องกับศักยภาพกระบวนการผลิตของกลุ่มทอผ้าชุมชนบ้านอ่างเตย ได้อย่างยั่งยืน  

    แรงบันดาลใจในการออกแบบ (Inspiration) ดำเนินการออกแบบผลิตภัณฑ์สินค้าแฟชั่นไลฟ์สไตล์ (Fashion Lifestyle)  โดยใช้แนวคิดในการผสมผสานความคิดสร้างสรรค์ (Creative) นวัตกรรม (Innovation) และอัตลักษณ์พื้นถิ่นเข้าไว้ด้วยกัน คือ การนำแนวคิดด้านการอนุรักษ์งานหัตกรรมเชิงวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน ด้วยการแสดงความเคารพคุณค่าทางศิลปหัตถกรรม และวัฒนธรรมมาผสมผสานการใช้ชีวิตในวิถีปัจจุบันได้อย่างกลมกลืน เพื่อให้สิ่งที่มีคุณค่าในอดีตจากความหลายหลายถูก ต่อยอดและอยู่ร่วมกับคนรุ่นใหม่ ในแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) หากพูดกันแบบง่าย ๆ ก็คือ แนวคิดที่สนับสนุนให้เราใช้สิ่งของหรือทรัพยากรที่มีอยู่ให้คุ้มค่าที่สุด มีการวางแผนให้สิ่งของที่เราใช้สามารถคืนสู่สภาพเดิมหรือพร้อมนำกลับมาใช้  โดยใช้ชื่อ Collection ว่า “Cyclical Beauty”

        โดยใช้การเลือกผ้าผืนที่สำเร็จ ผ้าไหมทอมือย้อมสีธรรมชาติ เลือกสีจากหนังสือแนวโน้มและทิศทางผ้าไทยและการออกแบบเครื่องแต่งกายด้วยผ้าไทย เล่มที่ 3 (Thai Textiles Trend Book Spring/Summer 2023) ใน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา กลุ่มสี ตัวตนข้ามวัฒนธรร (Expressive Exotic) ที่มีแนวคิด ประสบการณ์จากการเดินทาง มีส่วนในการช่วยเพาะบ่มอัตลักษณ์ ของผู้คนให้งอกเงยยิ่งได้พบเห็น งานศิลป์ และสัมผัสวัฒนธรรมอันหลากหลายมากเท่าใด ความเจนจัดในแง่ตัวตนและทักษะทางความคิดสร้างสรรค์ก็ยิ่งสั่งสมจนสามารถสร้างความรู้สึกอิ่มเอมดื่มด่ำใจได้มากขึ้นเท่านั้น ตัวตนของกลุ่มคน เหล่านี้เปรียบได้กับจุดตัดอันสลับ- ซับซ้อนระหว่าง “เวลาที่พอกพูน” กับ “วัฒธรรมอันหลากหลาย” โดยเลือกสี  ทองคำเปลว รหัส PANTONE 15-1049 TCX  ไฟฑูรย์ PANTONE 12-0740 TCX   ปะการัง PANTONE 16-1362 TCX   ปูนแดง PANTONE 15-1435 TCX   หยกอ่อน  PANTONE 13-6110 TCX  เขียวมะนาว PANTONE 14-0340 TCX   

        แนวทางในการออกแบบเริ่มจากการศึกษาและเรียนรู้เกี่ยวกับหลักการและเทคนิคของการออกแบบและการตัดเย็บในแนวคิด Zero Waste ให้สอดคล้องกระบวนการออกแบบและผลิตผ้าไหมทอมือย้อมสีธรรมชาติของกลุ่มทอผ้าชุมชนบ้านอ่างเตยคัดเลือกวัสดุท้องถิ่นของกลุ่มทอผ้าชุมชนบ้านอ่างเตย: เลือกใช้วัสดุที่ผลิตในท้องถิ่นของกลุ่มทอผ้าชุมชนบ้านอ่างเตย โดยเลือกใช้ผ้าทอมือที่มีการผลิตเป็นผืนผ้าในขนาดมาตรฐานที่ผลิตอยู่แล้ว และมีกระบวนการผลิตเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ต้นน้ำและมีการสร้างเอกลักษณ์ที่โดดเด่น เช่น การย้อมสีธรรมชาติ และการผสมผสานเส้นไหมที่แตกต่าง  

ภาพร่างแฟชั่นโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รวิเทพ มุสิกะปาน

        ใช้กระบวนการออกแบบรูปแบบผลิตภัณฑ์แนวทาง Zero Waste: ใช้เทคนิคการออกแบบที่มีการใช้ผ้าโดยไม่ตัดและหรือกระจายของส่วนของผ้าที่เหลือใช้ให้มากที่สุด ตั้งแต่รูปร่างของผลิตภัณฑ์ไปจนถึงการกำหนดแพทเทิร์นและลดขั้นตอนการตัดเย็บ มีถ่ายทอดองค์ความรู้และการฝึกอบรม: ส่งเสริมความรู้และทักษะให้กับสมาชิกกลุ่มทอผ้าชุมชนบ้านอ่างเตย ที่สามารถเป็นช่างที่เกี่ยวข้องกับการตัดเย็บ Zero Waste เพื่อเพิ่มความรู้และสามารถนำเสนอแนวทางใหม่ๆ ในกระบวนการผลิตแฟชั่น Zero Waste     หลังจากกระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์และผลิตต้นแบบร่วมกันกับกลุ่มทอผ้าชุมชนบ้านอ่างเตย ทางโครงการจัดกิจกรรมให้คำแนะนำกลุ่มเกษตรกรในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ในกระบวนการผลิตต้นแบบ (Prototype) ผลิตภัณฑ์ไหมไทยผลิตภัณฑ์ในเชิงลึก โดยใช้แนวทางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์แฟชั่น แบบ Zero Waste ที่เหมาะสมกับการออกแบบแฟชั่นจากวัสดุท้องถิ่น เพื่อต่อยอดเชิงพาณิชย์และสอดคล้องกับศักยภาพกระบวนการผลิตของกลุ่มทอผ้าชุมชนบ้านอ่างเตย โดยถ่ายทอดองค์ความรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับ Zero Waste

    

           

        โดยการอธิบายเกี่ยวกับหลักการและเทคนิคของการออกแบบและการตัดเย็บในแนวคิด Zero Waste ให้สอดคล้องกระบวนการออกแบบและผลิตผ้าไหมทอมือย้อมสีธรรมชาติของกลุ่มทอผ้าชุมชนบ้านอ่างเตย ให้มีการคัดเลือกวัสดุท้องถิ่นของกลุ่ม โดยเลือกใช้ผ้าทอมือที่มีการผลิตเป็นผืนผ้าในขนาดมาตรฐานที่ผลิตอยู่แล้ว และมีกระบวนการผลิตเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ต้นน้ำและมีการสร้างเอกลักษณ์ที่โดดเด่น เช่น การย้อม
สีธรรมชาติ และการผสมผสานเส้นไหมที่แตกต่างกัน และใช้เทคนิคการออกแบบที่มีการใช้ผ้าโดยไม่ตัดและหรือกระจายของส่วนของผ้าที่เหลือใช้ให้มากที่สุด ตั้งแต่รูปร่างของผลิตภัณฑ์ไปจนถึงการกำหนดแพทเทิร์นและลดขั้นตอนการตัดเย็บ รวมถึงการคำปรึกษากลุ่มเกษตรกรดำเนินการจัดทำผลิตภัณฑ์ต้นแบบ สำหรับการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ในงานแสดงผลงาน/ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง โดยการนำเสนอตัวอย่างการถ่ายภาพแฟชั่นผลิตภัณฑ์ต้นแบบอย่างง่ายๆ เพื่อให้กลุ่มฯ สามารถนำไปต่อยอดในการนำเสนอสินค้าของกลุ่มฯ ต่อไป

ผลงานการออกแบบและการผลิตภัณฑ์สินค้าแฟชั่นไลฟ์สไตล์ (Fashion Lifestyle) กลุ่มวิสาหกิจชุมชนปลูกหม่อนเลี้ยงไหมทอผ้าบ้านอ่างเตย ตำบลท่าตะเกียบ อำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา 

 

บทสรุปจากการออกแบบและการผลิตภัณฑ์สินค้าแฟชั่นไลฟ์สไตล์ (Fashion Lifestyle) กลุ่มวิสาหกิจชุมชนปลูกหม่อนเลี้ยงไหมทอผ้าบ้านอ่างเตย ตำบลท่าตะเกียบ อำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา ที่สอดคล้องกับความต้องการในอุตสาหกรรมแฟชั่นโลก สามารถสรุปแนวทางการพัฒนาได้ดังนี้

      การบูรณาการภูมิปัญญาท้องถิ่น: การนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบผลิตภัณฑ์แฟชั่น เช่น การใช้ลายละเอียดจากการทอผ้าท้องถิ่นหรือกระบวนการสร้างสรรค์ผ้าไทยที่มีเอกลักษณะเฉพาะ เช่น การย้อมสีธรรมชาติ การสร้างสรรค์ลวดลาย ขนาดของผืนผ้า ผ้าที่ทอด้วยเทคนิคพิเศษจากการทอผ้าไหมไทยที่ให้ลักษณะทางสีและลวดลายที่เฉพาะเจาะจง

     การใช้วัสดุท้องถิ่น: การเลือกใช้วัสดุท้องถิ่นที่มีคุณภาพและเป็นเอกลักษณ์ที่หลากหลาย ข้ามวัฒนธรรม
ที่สามารถเชื่อมโยงกระบวนการผลิตได้และยึดแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาอย่างยั่งยืนร่วมกัน

     การนำเสนอแนวทางในการออกแบบผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น: แนวทางในการออกแบบผลิตภัณฑ์แฟชั่นภูมิปัญญาไทยควรเน้นการรักษาความสมดุลระหว่างสไตล์และความทันสมัย โดยการปรับแต่งรูปทรงและลายละเอียดให้เหมาะสมกับความต้องการของตลาดโลก รวมถึงแนวทางของอุตสาหกรรมแฟชั่นในกระแสโลก ในที่นี้คือการออกแบบแฟชั่นเพื่อความยั่งยืน ในแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) 

     การสืบทอดภูมิปัญญาด้านการทอผ้า: การสืบทอดภูมิปัญญาด้านการทอผ้าเป็นขั้นตอนสำคัญใน
การพัฒนาผลิตภัณฑ์แฟชั่นภูมิปัญญาไทย  นอกจากดำเนินการในการสืบทอดภูมิปัญญาด้านการทอผ้า
ที่ครบวงจรตั้งแต่การปลูกหม่อน เลี้ยงไหม การทอผ้า  และพัฒนาลวดลายให้สอดคล้องกับความต้องการ
ตรงตามกระแสแฟชั่นโลกแล้วควรพัฒนาการใช้เทคนิคการทอผ้าที่เป็นเอกลักษณ์ของไทยเพื่อผลิตผ้าที่มีคุณภาพและสามารถแข่งขันในตลาดนานาชาติได้

     การผสมผสานสไตล์และนวัตกรรม: การผสมผสานระหว่างภูมิปัญญาและนวัตกรรมเป็นสิ่งสำคัญใน
การสร้างผลิตภัณฑ์แฟชั่นที่น่าสนใจและทันสมัย การใช้เทคโนโลยีในการออกแบบ การตัดเย็บ และการผลิตสามารถเพิ่มความมั่นใจในคุณภาพและประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ โดยยึดแนวทางความสามารถทางทักษะฝีมืองานหัตถกรรมดั้งเดิมเป็นหลัก ร่วมกับแนวคิดเชิงนวัตกรรมด้านการออกแบบเป็นหลักโดยไม่ยึดติดกับเทคโนโลยี

     ด้วยแนวทางเหล่านี้ การพัฒนาการออกแบบผลิตภัณฑ์แฟชั่นภูมิปัญญาไทยจะสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าทั้งด้านวัสดุ สไตล์ และนวัตกรรม เพื่อตอบสนองความต้องการในอุตสาหกรรมแฟชั่นโลกอย่างยั่งยืนได้

รางวัล WINNER AWARDS 2020 : New Face Designer. ในงาน CDA Design Awards 2020

รางวัล WINNER AWARDS 2020 : New Face Designer. ในงาน CDA Design Awards 2020

ผลงานวิจัยอาจารย์ ประจำหลักสูตรแฟชั่น สิ่งทอ และเครื่องนุ่มห่ม วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มศว ได้รับรับรางวัล WINNER AWARDS 2020 : New Face Designer. ในงาน CDA Design Awards 2020 ผลงานสร้างสรรค์ HIMMAPAN คอเลคชั่นแฟชั่น menswear จากผลงานวิจัยสร้างสรรค์เรื่อง โครงการการพัฒนาลวดลายพิมพ์กัดผ้าม่อฮ่อม ผสมเทคโนโลยีปักผ้า สู่เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายบุรุษแบรนด์ขวัญโย โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. รวิเทพ มุสิกะปาน อาจารย์ ประจำหลักสูตรแฟชั่น สิ่งทอ และเครื่องตกแต่ง วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มศว และขวัญโย มาอุ่น ได้รับรับรางวัล WINNER AWARDS 2020 : New Face Designer. ในงาน CDA Design Awards 2020 เป็นผลงานสร้างสรรค์คลอเลคชั่น ‘หิมพานต์’ คือการนำเอาผ้าหม้อห้อมซึ่งเป็นผ้าพื้นเมืองที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดแพร่ มาพัฒนาต่อยอดในคอลเลคชั่นนี้ การออกแบบลายผ้าได้รับแรงบันดาลใจมาจากป่าหิมพานต์ที่เต็มไปด้วยสัตว์นานาชนิด โดยตัวผืนผ้าทอด้วยมือและย้อมห้อมธรรมชาติ 100% โทนสีที่ได้จากสีของต้นห้อมหรือฮ่อมเป็นสีครามธรรมชาติ ผสมผสานเทคนิคการกัดลายกัดสีลงบนผ้าหม้อห้อม รวมไปถึงการปักลวดลายลงบนผ้า ซึ่งเป็นเทคนิคที่เป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ขวัญโย เกิดเป็นเสื้อผ้าบุรุษที่มีความสวยงามทันสมัยใส่ได้จริง แต่ยังคง มีอัตลักษณ์ของผ้าพื้นเมืองผสมผสานอยู่อย่างลงตัว

คลอเลคชั่น ‘หิมพานต์’ นำเสนอด้วยรูปแบบแฟชั่นโชว์ ออกสู่สาธารณะชนครั้งแรก ในงาน BIFW2018 (Bangkok International Fashion Week 2018)

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. รวิเทพ มุสิกะปาน อาจารย์ ประจำหลักสูตรแฟชั่น สิ่งทอ และเครื่องตกแต่ง วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มศว และขวัญโย มาอุ่น ในงาน BIFW2018

ซึ่งในโครงการนี้เป็น การพัฒนาผ้าม่อฮ่อม บ้านทุ่งโฮ้ง ผ้าทอมือพิมพ์กัดสีด้วยสารธรรมชาติ 3 ลวดลาย แรงบันดาลใจลวดลายผ้าได้จากวรรณกรรมไทย เรื่องรามเกียรติ์ โดยนำรูปดอกไม้ ใบไม้และสัตว์ในป่าหิมพานต์ แบ่งเป็น หิมพานต์ภาคบนบก และหิมพานต์ภาคในน้ำ เทคนิคการย้อมสีม่อฮ่อมจากธรรมชาติ 100% ลงบนผ้าฝ้ายทอมือ และกัดลายโดยใช้สารจากธรรมชาติ ด้วยด่างทับทิมผสมกับหัวบุก ผสมเป็นเนื้อครีมแทนสีสกรีน กัดลวดลายด้วยวิธีการซักผ้าด้วยน้ำผสมกำมะถัน หรือน้ำผสมขี้เถ้า จะทำให้เกิดลวดลาย และความเข้มอ่อนของสีที่กัดออกตามสัดส่วนและวิธีการของการซัก เหมาะสมกับการนำมาใช้ในการออกแบบคลอเลคชั่น สำหรับเสื้อผ้าบุรุษในแบรนด์ ขวัญโย และพัฒนาฝีมือแรงงานในท้องถิ่นอีกด้วย ในปี 2561 คลอชั่นนี้ยังได้รับรางวัลชนะเลิศ รางวัล Stratups and SMEs Pitching Driving ในงาน Thailand Innovation Hubs 2018 มาแล้วอีกด้วย รางวัล WINNER AWARDS 2020 : New Face Designer. ในงาน CDA Design Awards 2020 เป็นรางวัล New Face Designer เป็นการให้รางวัลกับผลงานยอดเยี่ยมด้านการออกแบบ ของนักออกแบบรุ่นใหม่ หรือกิจการด้านการออกแบบหน้าใหม่ (Young Designer or New Design Entrepreneur) ประจำปี 2020

รางวัล WINNER AWARDS 2020 : New Face Designer. ในงาน CDA Design Awards 2020

รูปแบบเสื้อผ้าเทคนิคการย้อมสีม่อฮ่อมจากธรรมชาติ 100% ลงบนผ้าฝ้ายทอมือ และกัดลายโดยใช้สารจากธรรมชาติ ด้วยด่างทับทิมผสมกับหัวบุก ผสมเป็นเนื้อครีมแทนสีสกรีน กัดลวดลายด้วยวิธีการซักผ้าด้วยน้ำผสมกำมะถัน
หรือน้ำผสมขี้เถ้า จะทำให้เกิดลวดลาย

นิทรรศการผลงานสร้างสรรค์คลอเลคชั่น ‘หิมพานต์’ โดยมีผลงานที่โดดเด่นและสร้างสรรค์ที่ได้รับรางวัลรวมทั้งสิ้น 27 ผลงาน แสดงร่วมกัน ณ คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (มหาอินทร์) จังหวัดเชียงใหม่

ขวัญโย มาอุ่น กับรางวัล WINNER AWARDS 2020 :
New Face Designer. ในงาน CDA Design Awards 2020

โดยผลงานที่ได้รัลรางวัลทั้งหมดมีแนวคิดสอดคล้องกับปรากฏการณ์สิ่งใหม่ (New Normal) และการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้เกิดความสนใจและให้ความสำคัญกับอัตลักษณ์และแก่นแท้ของตนเองมากยิ่งขึ้น โดยเกิดความนิยมในการนำวัฒนธรรมท้องถิ่นและหัตถศิลป์มาประยุกต์ใช้อย่างสร้างสรรค์เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตปัจจุบัน สำหรับ รางวัลการออกแบบซีดีเอ 2020 ภายใต้แนวคิด ‘New Local’ จะกระตุ้นให้นักออกแบบได้แสดงตัวตนตามแบบฉบับของตนเอง โดยรางวัลการออกแบบซีดีเอ มีเป้าหมายสำคัญในการผลักดันและส่งเสริมผลิตภัณฑ์การออกแบบที่น่าสนใจในแต่ละพื้นที่ของภาคเหนือให้เป็นที่รู้จักและเป็นที่ยอมรับในสังคมต่อไปที่ได้รับรางวัลทั้งหมด

GENERATION Z กับแนวคิดภูมิปัญญาไทย

ความรู้สึก Generation Z กับการพัฒนาภูมิปัญญาไทย
เพื่อการออกแบบแฟชั่น

ความรู้สึก GENERATION Z ของนิสิตแฟชั่น ชั้นปีที่ 2 มศว หลังจากได้ศึกษาแนวคิดภูมิปัญญาไทยและพัฒนาแนวคิดเพื่อการออกแบบแฟชั่น ในผลงาน Final รายวิชานวัตกรรมการออกแบบจากภูมิปัญญาไทย (DESIGN INNOVATION FROM THAI WISDOM)

บทความโดย ชายชล สำลีทองสกุล / ปรับปรุงบทความโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. รวิเทพ มุสิกะปาน

From Then’ Till Now

มองย้อนกลับไปหนึ่งเทอมที่ผ่านมา เราได้ทำความรู้จักอย่างจริงจังกับคำที่เราได้ยินมาตั้งแต่จำความได้ อันเป็นคำที่คุ้นชินเมื่อพูดถึงและได้ยิน แต่เมื่อได้ลองสัมผัสจริงแล้วนั้นเสมือนเป็นการค้นพบครั้งใหม่ในสิ่งที่ตนเพิกเฉยและเคยมองข้าม คำนั้นคือคำว่า “ภูมิปัญญา” แน่นอน เราได้ยินคำนี้มาตั้งแต่ยังจำความได้ในวิชาเรียนเขียนอ่านที่พร่ำเรียนมา เพียงแต่เรารู้จักแค่เปลือกนอกเท่านั้น ในทีแรกตัวผมเองก็ยังไม่เข้าใจถึงแนวคิดการนำภูมิปัญญามาต่อยอดสักเท่าไหร่นัก ทำได้เพียงแต่ฉงนกับกับรูปภาพและคำโปรยที่อาจารย์พยายามอธิบาย แต่เมื่อเริ่มศึกษาและเริ่มลงลึกเรื่อยๆ ทดลองแล้วทดลองอีก แท้จริงแล้ว คือการนำเอกลักษณ์ (uniqueness) ของสิ่งนั้นๆ มาบวกกับกระบวนการออกแบบ กระบวนการทดลองจนเกิดเป็นสิ่งใหม่ ไปจนถึงเป็นนวัตกรรม (innovation) ขึ้นมา จากสิ่งที่คงเดิมที่มิได้ถูกปรับเปลี่ยนแปรสภาพมานาน หรือสิ่งอันเป็นวิถีที่ดำเนินเรื่อยมาจนชินชา มองข้าม คุ้นชิน แต่หากเราหยิบสิ่งนั้นมาพลิกแพลงแปลงโฉมใหม่ให้เข้ากับยุคสมัยและความต้องการ นั่นแหละคือแนวคิดและกระบวนการที่จะพัฒนาและยกระดับสิ่งที่มีอยู่แล้วและเคยชินให้คงหมุนเวียนและปรับเปลี่ยนอยู่เสมอ โดยไม่ถูกทอดทิ้งและถูกลืมไปตามกาลเวลา

มีประโยคหนึ่งที่ผมเคยอ่านเจอในหนังสือว่า “Ashes to ashes, dust to dust. This is what become of us.” ผมฉุกคิดได้ว่าภูมิปัญญานั้นเป็นเสมือนวิถีที่แทรกซึมเราอยู่ในทุกอณูของการใช้ชีวิตของเรา เพียงแต่เรามองข้ามไปเท่านั้นเอง ทำให้ผมเกิดความสงสัยจึงลองมองลึกลงไปถึงความหมายของคำว่า ภูมิปัญญา แท้จริงแล้วคืออะไรกันแน่?

จากการค้นหาข้อมูล ผมได้ข้อสรุปสั้นๆ เป็นประโยคที่ว่า “Wisdom is the ability to make good decisions informed by both knowledge and the lessons of lived experience.” ภูมิปัญญา คือ ความสามารถในการตัดสินใจจากการรับรู้ด้วยองค์ความรู้ ความคุ้นเคยและบทเรียนจากการดำรงอยู่ สรุปแล้วภูมิปัญญาเป็นเหมือน Soft Skill หรือ Fundamental ที่มีพื้นฐานมาจากการดัดแปลง (applied) ความรู้ต่างๆ

เมื่อได้ทราบถึงความหมายของภูมิปัญญา แล้วลองมาดูกันว่าจากหนึ่งเทอมที่ผ่านมา ทั้งผมและเพื่อนนั้นได้ทดลองและพัฒนาภูมิปัญญาเหล่านี้อย่างไรบ้าง จริงอยู่ การที่จะออกแบบอะไรสักอย่างต้องใช้หลายองค์ ไม่ว่าจะเป็นรูปร่าง รูปทรง สี พื้นผิวหรืออะไรก็แล้วที่ขมวดรวบยอดอยู่ในคำว่าแรงบัลดาลใจ  แต่หัวใจหลักของการที่จะทำให้งานออกแบบนั้นออกมาแตกต่างโดดเด่นไม่เหมือนใครนั้น อยู่ที่กระบวนการและแนวคิดที่จะนำสิ่งที่มีอยู่มาผสานกับสิ่งใหม่ ผมจึงอยากจะยกตัวอย่าง process การทำงานของเพื่อนหลายๆ คนว่าพวกเขามีแนวคิดในการใช้กระบวนการของภูมิปัญญาในแขนงนั้นๆ สร้างสรรค์ออกมาเป็นผลงานในรูปแบบใดได้บ้าง ในช่วงครึ่งแรกของเทอม

เริ่มจากในรูปแรกนั้นเป็นการนำภูมิปัญญาการทำพวงมโหตร มาต่อยอดเป็นผลงาน โดยศึกษาการสร้างแพทเทิร์นที่เกิดจากกระดาษที่ติดกาวเป็นช่องสลับไปมา เมื่อกางออกจะเกิดเป็นทรงสามมิติที่มีช่องตลอดทั้งผืน การศึกษาเราไม่ได้ได้ทำพวงมโหตรรูปแบบภูมิปัญญาดั้งเดิมเป็นอย่างเดียวเท่านั้น เราต้องนำมาต่อยอดด้วยการเปลี่ยนแปลงทั้งวัสดุและรูปทรง แต่ยังคงอยู่บนพื้นฐานของรูปแบบการซ้อนและสับหว่างของพวงมโหตร ทำให้ได้ผลงานที่มีพื้นผิวและจังหวะที่แตกต่างไปจากเดิม แต่ยังคงอยู่ซึ่งกลิ่นอายขอภูมิปัญญาการทำพวงมโหตร ท้ายที่สุด งานนี้ทำให้เห็นการต่อยอดมาสู่รูปแบบการสวมใส่ในรูปแบบกระโปรงยาวในรูปแบบการตัดด้วยวิธีการของภูมิปัญญาของพวงมโหตร

 

หรือจะเป็นในรูปที่สอง ที่ได้แนวความคิดมาจากการสานปลาตะเพียนอันเป็นสิ่งที่คนไทยอย่างเราคุ้นเคยเป็นอย่างดี แต่จะทำอย่างไรให้ปลาตะเพียนสานที่ดูเป็นของธรรมดาให้แตกต่างและร่วมสมัยเช่นกัน กระบวนการทั้งหมดเกิดจากการศึกษาวิธีการสานตัวปลาตะเพียนนั้นสามารถแปรสภาพไปเป็นรูปแบบใดได้บ้างนอกจากสานเป็นตัวปลาอย่างเดียว จากรูปนั้นจะเห็นได้ว่ามีการทดลองในการสานให้เป็นผืนหรือสานด้วยเทคนิคการสานตัวปลา แต่เป็นรูปทรงอื่น ทำซ้ำจนเกิดจังหวะที่แปลกตา และในรูปสุดท้าย (ล่าง) เมื่อการสานไม่จำเป็นต้องเกิดจากวัสดุที่แบนหรือกลมที่ได้จากธรรมชาติเสมอไป หากเป็นวัสดุสังเคราะห์หรือวัสดุที่ดูตรงข้าม จนรู้สึกว่าไม่สามารถนำมาอยู่ในงานฝีมือรูปแบบนี้ได้ จึงทำให้เกิดลักษณะพื้นผิวที่แปลกตาและแปลกใหม่ ซึ่งทั้งหมดเกิดจากกระบวนการดั้งเดิมที่สืบต่อกันมา เพียงแต่นำมาผสมผสานกับงานออกแบบจนเกิดเป็นสิ่งใหม่

แต่นั่นเป็นเพียงบทสรุปของจุดเริ่มต้นเท่านั้นที่ได้พวกผมได้ลองสัมผัสศึกษาและทำความรู้จักกับภูมิปัญญาไทย

โดยในครึ่งหลังของเทอมนั้นได้เจาะจงลงไปในภูมิปัญญาที่เป็นผ้าในรูปแบบต่างๆ จากหลากหลายแหล่งที่มา หลากหลายท้องถิ่นและหลากหลายวัฒนธรรมโดยมีคำว่า “ผ้าไทย” เป็นตัวเชื่อมในครั้งนี้ แตกต่างจากครั้งครึ่งเทอมก่อนที่สามารถอิสระในการทดลองวัสดุเพื่อให้เกิดรูปทรง พื้นผิวและสี ให้ออกมาตามต้องการ แต่เพียงผ่านกระบวนการคิดและออกแบบที่มีภูมิปัญญาเข้ามาผสม แต่ในครั้งนี้ถูกจำกัดด้วยวัสดุจึงเป็นอีกความท้าทายใหม่ที่จะนำมาพัฒนาและทดลอง เข้าใจว่าเพื่อสร้างความเข้าใจในวัสดุที่เข้าสู่การออกแบบแฟชั่นได้ชัดเจนขึ้น

01 RHAPSODY IN BLUE
สำหรับตัวผมนั้นได้เลือกศึกษาผ้าทอมือย้อมคราม ที่มีคุณสมบัติเป็นผ้าทอมือลายขัดสีฟ้าไปจนถึงน้ำเงินเข้มมีลวดลายแตกต่างกันออกไป หลังจากศึกษาทำให้เห็นว่าลวดลายและสีมีความแตกต่างกันตามแต่ละท้องถิ่น และในแต่ละของไทย ในกระบวนการออกแบบที่มีข้อกำหนดให้นำผ้าทอถิ่นมาใช้นั้น ผมได้เริ่มต้นสังเกตลักษณะของลายผ้าก่อน โดยผมมองเห็นและมีความรู้สึกถึงรูปทรงเรขาคณิตและเป็นรูปแบบที่ซ้ำกัน โดยตัดความรู้สึกดั้งเดิมของความเป็นพื้นถิ่นออกไป ผมมองเห็นเป็นแนวยาวคล้ายกับแผงวงจรอิเล็คทรอนิกส์ที่ทำให้นึกถึงภาพยนต์ไซไฟที่ผมชื่นชอบในวัยเด็กอย่าง Tron: Legacy ที่แสงในเรื่องส่วนใหญ่เป็นสีฟ้าและขาว ผมจึงศึกษาเพิ่มเติม และนำทั้งสองอย่างมาผสมผสานในการออกแบบของสองสิ่งที่ดูตรงข้าม โดยตั้งใจทำให้ผ้าย้อมครามนั้นดูมีความ futuristic มาขึ้นด้วยการสร้างพื้นผิวให้มีความมัน ใช้เทคนิคการรีดฟอยล์และไวนิลลงบนผ้าเพื่อให้เกิดพื้นผิวใหม่ และเมื่อบิดงอหรือพับก็จะได้พื้นผิวที่มีอารมณ์ต่างจากผ้าเดิมที่เป็นผ้าทอ

 

โดยประเด็นหลักหรือแรงบัลดาลใจที่หยิบยกมาจากทั้งสองเรื่องนี้ และพบความคล้ายคลึงกันคือสีและลวดลาย จึงนำทั้งสองมาออกแบบตามองค์ประกอบต่างๆ ที่ได้จากทั้งผ้าและภาพยนตร์ ในวันการตรวจผลงาน กลับได้มุมมองของอาจารย์ ว่าผลงานสามารถทำให้เกิดความรูสึกถึงสัตว์เลื้อยคลานสีแปลกใหม่

 

 

02 PERFECT ILLUSION
เมื่อลวดลายอิสระของผ้ามัดย้อมมาหลอมรวมกับพื้นผิวการพลีตเรขาคณิตทำให้เกิด illusion ใหม่ที่แปลกตาและน่าสนใจ ผลงานการออกแบบที่นำภูมิปัญญาผ้ามัดย้อมมาพัฒนาต่อจากเดิมที่เป็นมัดย้อมบนผ้าจากธรรมชาติ ที่ทดลองเทคนิคการมัดย้อมดั้งเดิมจากสีและสัดส่วนของลวดลายใหม่

จนถึงการนำลวดลายมัดย้อมนี้มาพิมพ์ลงบนผ้าแก้ว ที่มีลักษณะเป็นผ้าใยผ้าสังเคราะห์โปร่งแสงและมีความเงาวาว เมื่อกระทบกับแสงไฟมาทับซ้อนกับผ้ามัดย้อมที่มีความทึบ เพื่อให้เกิดมิติคล้ายภาพลวงตา อีกทั้งยังได้ทำการขยำเพื่อให้พื้นผิวของผ้าเล่นแสงเงามากขึ้น บวกกับการใช้เทคนิคอัดพลีทลวดลายเรขาคณิตให้ล้อไปความมันวาวของผ้าแก้ว สร้างภาพลวงตาตัดกับลายอิสระของมันย้อมด้านล่าง

 

03 MELT AWAY
ความ Eccentric ที่เกิดจากการผสมผสานเข้าด้วยกันของวัสดุที่ต่างอารมณ์และต่างพื้นผิว สร้างความลงได้อย่างน่าประหลาดใจ ผลงานการออกแบบที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากการหลอมเหลวพลาสติกบนร่างกายของมนุษย์ ที่เมื่อไหลไปตามร่างกายแล้วนั้นทำให้เกิดความเว้าโค้ง (curve) และรูปทรงอิสระที่เกิดจากการหลอมเหลวและละลาย โดยใช้ผ้าถุงลายดอกที่คุ้นตาของย่าคุณยาย คุณแม่ ที่ใส่กันเห็นจนคุ้นตาจนเป็นสิ่งพื้นบ้าน (vernacular ) ที่มีคุณสมบัติเป็นผ้าทอจากเครื่องเครื่องจักรลวดลายผสมผสาน ทำให้มีเส้นใยที่ทอแน่นเป็นผืนพิมพ์ลวดลายพื้นบ้าน

 

 

จึงนำพัฒนาต่อโดยการตัดเย็บที่มีลักษณะตามการละลายของพลาสติก และสลับด้านเย็บต่อกันจนเกิดรูปทรงใหม่อีกทั้งยังแทรกด้วยผ้าลูกไม้ โดยนำมาซ้อนให้เกิดมิติใหม่ของล้ายผ้าที่ซ้อนกัน แต่ยังเห็นลวดลายพื้นบ้านที่คุ้นตาแทรกอยู่ทำให้เกิดคามรู้สึกแปลกใหม่ และยังมีการนำพลาสติกมาเป่าด้วยความร้อน แล้วทำให้เกิดรอยยับ เป็นการสร้าง layering ที่ซับซ้อน แปลกตา และลงตัว

 

 

04 CONTRAST + DUALITY
สีสันอันฉูดฉาดและตระการตาด้วยลายดอกไม้ของผ้าปาเต๊ะนั้นสามารถดึงดูดสายตาได้เสมอ เมื่อเจอกับงานดีไซน์ที่ลงตัว ยิ่งทำให้เกิดความงามในรูปแบบใหม่ที่มองได้ไม่มีเบื่อ ด้วยเอกลักษณ์ของผ้าป้าเต๊ะที่โดดเด่นด้วยลวดลายที่ซับซ้อนและสีสันที่ตัดกันอย่างสนุกสนาน ทำให้เป็นที่สังเกตได้ง่าย แม้จะวางคู่กับลูกพี่ลูกน้องอย่างบาติก 

 

ด้วยเอกลักษณ์นี้ ผู้ออกแบบจึงนำภูมิปัญญาจากแดนใต้นี้มาต่อยอดและเพิ่มมูลค่าของผลงาน โดยนำเสนอผ่านลวดลายของผ้าปาเต๊ะ และลวดลายการปักดอกไม้มาผสมผสานกัน โดยตัดลวดลายพิมพ์ของผ้าถุงปาเต๊ะมาจัดช่อใหม่ จากสองมิติให้กลายเป็นสามมิติ ใช้การปักตามลวดลายของตัวโครงชุดแบบ Darning Stitch เพื่อให้ดอกไม้ที่ปักมีความนูนเหมือนดอกไม้กำลังบาน ทำให้เกิดเสื้อผ้าร่วมสมัยในรูปแบบ Ready-to-wear

 

05 CAMPIEST OF THEM ALL
จะเป็นอย่างไรเมื่องานดีไซน์แนวคิดแบบ Secondhand Deconstruction มาเจอกับสไตล์อันสุดโต่ง สร้างสรรค์เป็นผลงานที่ยากจะละสายตาจนเรียกได้ว่าเป็น Scene Stealer อย่างแท้จริง จากแรงบัลดาลและโจทย์ที่เป็นผ้าไทยจากและผ้าผ้ามือสอง

จึงเริ่มลงสำรวจผ้ามือสองพบว่าตลาดขายเสื้อผ้ากีฬา แจ็คเก็ตมือสองได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก จึงนำโครงชุดและวัสดุแนว Activewear ที่ให้ความรู้สึก Sporty บวกกับความประทับใจให้ภาพศิลปิน Kazimir Malevich ที่ใช้เส้นตรงตัดกันอย่างน่าสนใจ โดยผ้าไทยที่เลือก เป็นผ้าไทยลายข้าวหลามตัด จึงใช้เส้นตรงของริบบิ้นตัดกับขอบลายผ้าให้เกิดลวดลายใหม่และกลมกลืนไปกับเสื้อผ้ามือสอง

 

หากผู้อ่านได้อ่านมาถึงตรงนี้แล้วนั้น ถือว่ามาไกลทีเดียว จาก 5 ผลงาน 5 สไตล์ ที่แสดงให้เห็นว่าภูมิปัญญาไทย อย่างผ้าไทย หรืองานฝีมือดั้งเดิม พื้นบ้านงานในครัวเรือน วัสดุคุ้นตาแบบบ้านๆ ที่เราเห็นกันชินตา บ้างบอกว่าเชย ล้าสมัย หรือดัดแปลงเอามาใช้ได้แค่บางโอกาส สามารถนำมาสร้างสรรค์ผลงานที่น่าสนใจ แปลกใหม่ และร่วมสมัยได้ เพราะถ้าเรามองลึกลงไปและศึกษาให้ดี เราจะพบความงามและสิ่งใหม่ๆ ในนั้นเสมอ อย่างที่เคยมีดีไซน์เนอร์ที่เรารักและรู้จักกันเป็นอย่างดีกล่าวไว้ว่า                                                                                    

“I think there is beauty in everything. What ‘normal’ people would perceive as ugly, I can usually see something of beauty in it” – Alexander McQueen

และทั้งหมดนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความสนุกสนานตลอดหนึ่งเทอมที่ผ่านมาของผมและเพื่อนๆ นับตั้งแต่วันนั้นถึงวันนี้ ในมุมมองของการพัฒนาภูมิปัญญาของพวกเรา FASH21  From Then ‘Till Now 

การเรียนการสอนพัฒนภูมิปัญญาไทย เพื่อการออกแบบแฟชั่น เปิดการเรียนการสอนในหลักสูตร BA. Fashion, Textiles and Accessories ในวิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มศว โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. รวิเทพ มุสิกะปาน