การเรียนการสอนแฟชั่นในช่วงโควิด กับ ผลงานงานนักศึกษาแฟชั่น ชั้นปีที่ 2 FASH SWU CCI

การเรียนการสอนแฟชั่นในช่วงโควิด กับ ผลงานงานนักศึกษาแฟชั่น ชั้นปีที่ 2 FASH SWU CCI

บทความโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. รวิเทพ มุสิกะปาน

เกือบ 2 ปีที่ผ่านมาเกิดอะไรขึ้นกับความคิดสร้างสรรค์ในการเรียนการสอนทางด้านแฟชั่น ?  ทั่วทั้งโลกหยุดชะลอ ทบทวน หาทางออกสำหรับการเรียนการสอนการแฟชั่น  ที่ผ่านมานักศึกษาแฟชั่น ที่ต้องเน้นการฝึก ทั้งปฏิบัติ ทั้งวิธีคิดและทดลอง การหาแรงบังดาลใจจากสิ่งรอบตัวรวมทั้งต้องสร้างสรรค์แรงบันดาลให้กับผู้อื่น แต่ช่วงเวลานี้กับสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด19 การเรียนการสอนแฟชั่นในสถาบันแฟชั่นทั่วทั้งโลกต้องปิดโรงเรียน ใช้การเรียนการสอนแบบออนไลน์ นักศึกษาแฟชั่นปรึกษาอาจารย์ผ่านกล้อง ทำชิ้นงานที่บ้านด้วยตัวเองเกือบทั้งหมด หาแรงบันดาลใจอย่างมีข้อจำกัด ไม่ได้ใช้สตูดิโอในสถานศึกษาอย่าง เครื่องปริ้น เครื่องเลเซอร์คัต จักรเย็บผ้า  เครื่องทอผ้า รวมถึงวัสดุอุปกรณ์ที่ต้องทำในสตูดิโอ โจทย์ยากที่สุดคือต้องงานทำที่บ้าน  อนุโลมได้ คือใช้การขนส่งเพื่อการขนส่งชิ้นงานที่ทำแล้วกลับไปกลับมาระหว่านักศึกษาและช่างฝีมือ เพื่อทำงานร่วมกันและต้องปรึกษาผ่านกล้องมือถือ 

นักศึกษาชั้นปีที่ 2 FASH SWU CCI  หรือ แฟชั่น มศว CCI  เมื่อถูกกำหนดด้วยข้อกำหนดเหล่านั้น หลักสูตรจึงต้องบูรณาการรายวิชา ทั้งวิชาที่เป็นแนวคิดและปฏิบัติเข้าไว้ด้วยกัน และต้องสร้างสรรค์ผลงานออกมาให้ได้ตามสมรรถนะของนักศึกษาแฟชั่นชั้นปีที่ 2 ตามแนวคิดภูมิปัญญาไทย ที่ต้องนำมาพัฒนาในแนวทางผลงานออกแบบเชิงนวัตกรรม ในเวลานี้ความคิดสร้างสรรค์ของนักศึกษาแฟชั่นถูกท้าทายในที่จำกัด บ้านจึงกลายเป็นสตูดิโอ บางคนอยู่ในห้องนอน การทอผ้าด้วยกี่เอวถูกนำกลับมาใช้ การย้อมสีเกิดจากสีและเครื่องมือการย้อมจากห้องครัว  ลวดลายจากเครื่องเลเซอร์คัทถูกลดทอนด้วยการด้วยตัดมือ มีงานทำมือเป็นเทคนิคหลัก การทดลองโครงสร้างและพื้นผิวสัมผัสผ้าหรือวัสดุได้มาจากหลักการเชิงวิทยาศาสตร์พื้นฐานที่หาได้รอบตัว วัสดุการทดลองแปดสิบเปอร์เซ็นถูกสั่งมาจากออนไลน์

แน่นอนพวกเค้ากำลังจะจบชั้นปีที่ 2 แต่พวกเค้าเหล่านี้อยู่บ้าน ที่บ้านคือสตูดิโอการทำงานของเค้า พวกเค้าคุยกับอาจารย์และเพื่อนๆผ่านซูม ความวุ่นวาย ความท้าทาย ความคิดแปลกใหม่ของเพื่อนๆ และบรรยากาศซึ่งหน้าของอาจารย์กับผลงานของเค้า บรรยากาศแบบนั้นไม่มี แต่การวัดความคิดสร้างสรรค์ในการเรียนการสอนทางด้านแฟชั่นก็ยังต้องคงอยู่ ทีมอาจารย์สลับกันให้คำปรึกษาผ่านซูม โชว์ผลงานที่ทำในแต่ละสัปดาห์ผ่านกล้อง  ในแต่ละวิชาที่มีวัตถุประสงค์และผลพัลธ์ของแนวคิดรวมถึงทักษะที่จะต้องวัดผล มีการให้ทำรายงานการทำงานด้วยเอกสารดิจิทัล บันทึกภาพถ่ายความก้าวหน้าผลงานผ่านกรุ๊ปทางเฟสบุ๊ค  มาดูผลลัพธ์จากผลงานสร้างสรรค์ ปลายภาคเรียนของนักศึกษาแฟชั่น FASH SWU CCI กัน 

เริ่มจาก นิภิวัฒน์ อ่ำเอี่ยม ผลงานถูกประเมินให้คะแนนอย่างเป็นเอกฉันท์ จากทีมอาจารย์ ให้เป็น THE BEST PROJECT  FASH SWU 2021 Sophomore Year (ผลงานปลายภาคเรียนยอดเยี่ยม ของนิสิตแฟชั่น ปี 2)  นิภิวัฒน์ ได้แนวคิดจากภูมิปัญญาไทย การสานพัดของอยุธยา เพื่อนำเทคนิคงานหัตถกรรมมาพัฒนามาเป็นส่วนหนึ่งในเทคนิคการทำผิวสัมผัสของผ้าโดยการสาน ในโครงการศึกษาการสานพัดบ้านแพรก อำเภอบ้านแพรก จังหวัดพระนครศรีอยุธยาสู่การออกแบบเครื่องแต่งกายรูปแบบ Tech wear ใน Collection ที่ชื่อว่า Surviving On Mars  เริ่มจากแกะวิธีการสานพัดจากพัดสานที่ซื้อมา ทดลองสานด้วยวัสดุผ้าหลากหลายชนิด  จากผ้าที่ตัดเป็นเส้นหลากหลายขนาดและหาวิธีเก็บริมผ้าจากผ้าฝ้ายและลินิน สร้างแพทเทิร์นขึ้นรูปทรงตามสเก็ต เป็นเสื้อผ้าที่ถอดประกอบได้ ฟิ้ตติ้งด้วยตัวเอง ขึ้นผ้าจริงในแนวทางของ Tech wear เพื่อความคล่องตัวของผู้สวมใส่ด้วยวัสดุใหม่ที่ระบายอากาศได้ดีจากเทคนิคการสานผ้า และมีการตัดเย็บที่เน้นหนักเรื่องการเคลื่อนไหวได้ง่าย เน้นไปที่ช่วงข้อต่อต่างๆของร่างกาย เค้าทำทุกอย่างที่บ้าน ใช้เวลาทั้งหมดเดือนกว่า

THE BEST PROJECT  FASH SWU 2021 Sophomore Year. Collection : Surviving On Mars. 

การทำงานที่ค่อนข้างซับซ้อนของ กัญญาภัค ขำสกุล การทำลายปริ้นบนผ้าต่างชนิด  ที่ต้องส่งกลับไปมาระหว่างสตูดิโอ และเข้ามาทำเองจากการปริ้นด้วยเครื่องรีดร้อนในสตู ซึ่งเป็นเรื่องยากในสถานการณ์โควิดแบบนี้ แต่ก็ทำจนสำเร็จพร้อมทั้งการใช้งานฝีมือในการปักงานหัตถกรรมนูนต่ำตกแต่งบนลวดลายปริ้นเพื่อให้เกิดมิติที่ซับซ้อน  ใน Collection ที่ชื่อว่า The Paradoxical Matriyoshka

Collection ที่ชื่อว่า The paradoxical matriyoshka. โดยกัญญาภัค ขำสกุล

อีกหนึ่งผลงานที่น่าสนใจ การพัฒนาการทำธงตะขาบ ของชาวบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ผสมผสานการถักมือ ในเทคนิคการปักและถักในการซ่อมแซมเสื้อผ้าที่ทุกคนสามารถทำได้ด้วยตัวเองมาเป็นเทคนิคหลักในการสร้างรูปแบบใหม่ๆและการตกแต่งได้ตามที่ต้องการ ใน Collection ที่ชื่อว่า Trekking To Unidentified One ของ วรรณิดา เสถียรโสภณ 

Collection : Trekking To Unidentified One ของ วรรณิดา เสถียรโสภณ 

Collection ของ ฐานัสก์พล ก่อกิจโรจน์ ที่ชื่อว่า The Deception Of Satan  ทำการออกแบบลวดลายหมัดหมี่ และหมัดหมี่ด้วยตัวเอง ฝึกทอผ้าจนทอได้ด้วยตัวเอง ทอแทรกด้วยขนนกและตกแต่งผ้าด้วยเลื่อม นำเข้าสู่การตัดเย็บ เกือบจะร้อยเปอร์เซ็นเกิดขึ้นที่บ้าน เป็นข้อจำกัดของการทำงานที่อาจจะพิสูจน์ได้ว่า ในอดีตงานหัตถกรรมและงานฝีมือเริ่มต้นจากช่างฝีมือเพียงคนเดียวได้ เช่นเดียวกับ  รัณณ์ กีรติวรนันท์ ทอผ้าฝ้ายมัดหมี่ โดยทำลวดลายแต้มหมี่ด้วยตัวเอง  ตกแต่งลวดลายพื้นผิวด้วยวิธีการวาดด้วยพู่กัน ปักทับด้วยมือ จากแพทเทิร์นทีละชิ้น และนำมาประกอบเป็นชุดในสตูดิโอของตัวเอง ที่มีแนวทางศิลปะ Fauvism Art ใน Collection ที่ชื่อว่า The Liberation Of Polychromatic.

Collection ของ ฐานัสก์พล ก่อกิจโรจน์ ที่ชื่อว่า The Deception Of Satan  

Collection ที่ชื่อว่า The liberation of polychromatic. โดยรัณณ์ กีรติวรนันท์

การสานด้วยกระบวนการจักสานจากภูมิปัญญาชาวบ้าน ทั้งการจักรสานหมวก จักรสานข้าวของเครื่องใช้  ของ รัชนิดา กิจวรตานนท์ ใน Collection ที่ชื่อว่า Genderless Beauty ทดลองทำวัสดุผ้าหลากหลายให้สานได้ในลักษณะเดียวการการสานด้วยวัสดุท้องถิ่น ทั้งย้อมและสร้างพื้นผิวใหม่ ใน Collection ที่ชื่อว่า Pandora  ของ ณัฏฐิยา ศิษฎิโกวิท ใช้  Real Material สร้างและจักรสานจากผักตบชวาลวดลายท้องถิ่นขึ้นเป็นรูปทรงอิสระเป็นรูปแบบ Creative Wear

รัชนิดา กิจวรตานนท์ ใน Collection ที่ชื่อว่า Genderless beauty.

Collection ที่ชื่อว่า Pandora.  ของ ณัฏฐิยา ศิษฎิโกวิท

การศึกษางานหัตถกรรมที่เกิดจากภูมิปัญญาไทย ในเวลานี้อาจไม่สามารถลงพื้นที่เพื่อฝึกฝนการทำหรือศึกษากระบวนการทำงานได้ การศึกษาในออนไลน์และเห็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนจากโลกออนไลน์ ทำให้พวกเค้ากล้าทดลอง ไม่กลัวผิด หรือไม่รู้ว่าผิด การทดลองถูกทดลองในพื้นที่ห้องครัว  การทำงานหัตถกรรม Paper Marbling ถูกนำมาทดลองทำกับยางพรารา จนได้วัสดุใหม่ในกระบวนการหัตถกรรม และนำเสนอรูปแบบ Conceptual Art ในรูปแบบของการสวมใส่ ที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ให้เป็นงานประติมากรรม  ในผลงาน Collection ที่ชื่อว่า The non-existence relationship. ของ ชนากานต์ เมฆจำเริญ  อีกหนึ่งผลงานที่ใช้กระบวนการงานหัตถกรรมมาเป็นการทดลอง เป็นผลงานของของ นพรัตน์ ลิขิตหัตถศิลป  Collection ที่ชื่อว่า Reality Distortion  ที่ใช้กระบวนการ การตัดกระดาษพวงมะโหดมาสร้างสรรค์ในรูปแบบเสื้อผ้าที่ปรับเปลี่ยนและเคลื่อนไหวได้ ที่น่าสนใจอีกหนึ่งผลงาน เป็นผลงานที่ดูเหมือนจะไม่ลงตัวแต่ประหลาดเกินจริง ดูไม่ออกถึงรสนิยมที่ผสมผสานแบบเดาทางไม่ถูก โดยใช้งานปักมือของไทยผสมกับงานโลหะ ผสมงานปริ้น ที่สร้างสตูดิโอไว้ที่บ้าน ของ ปณต แก้วไพฑูรย์ ใน Collection ที่ชื่อว่า Reimagination of oriental heaven.

Collection ที่ชื่อว่า The non-existence relationship. ของ ชนากานต์ เมฆจำเริญ

นพรัตน์ ลิขิตหัตถศิลป  ใน Collection ที่ชื่อว่า Reality Distortion

Collection ที่ชื่อว่า Reimagination of oriental heaven. ของ ปณต แก้วไพฑูรย์ 

ปิดท้ายด้วยผลงานที่ย้อนกลับไปในวัยเด็กที่แฝงความสวยงามและการเผชิญความโหดร้ายของสงคราม ใน Collection ที่ชื่อว่า A story of innocence in a world of ignorance. ของ คณาธัช อินทรขาว ที่นำการวาดรูปของเด็กที่ให้ความรู้สึกไร้เดียงสานำมาสู่การพัฒนาการวาดลวดลายในเทคนิคบาติก และการตัดเย็บแบบไร้ระเบียบ

ไม่รู้อีกนานแค่ไหนสถาณการณ์โรคระบาดโควิด19 ในประเทศไทยและทั่วโลกจะหมดไป ถึงแม้ในฝั่งอเมริกาและยุโรปเริ่มดีขึ้น นักศึกษาแฟชั่นเริ่มกลับเข้าสตูดิโอในสถาบันการศึกษาแบบมีข้อกำหนด หรือในอนาคตความคิดสร้างสรรค์ของนิสิตแฟชั่นทั้งในโปรเจคระหว่างเรียน ผลงานปลายภาคเรียนในแต่ละชั้นปี รวมถึงผลงานแฟชั่นนิพนธ์ ก็ยังคงต้องเผชิญกับข้อจำกัดใหม่ๆที่จะเกิดขึ้น  อย่างไรก็ตามการเรียนการสอนแฟชั่นในประเทศไทยก็ยังคงอยู่ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใดก็ตาม และก็ยังคงคาดหวังเห็นการสร้างสรรค์ใหม่ๆของนิสิตแฟชั่นในทุกๆปีอยู่ดี

กดชม VDO ผลงานนักศึกษาแฟชั่นชั้นปีที่ 2 FASH SWU CCI  :PROJECT  FASH SWU 2021 Sophomore Year

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *